เทวดานพเคราะห์


เทวดานพเคราะห์

        การบูชาเทวดานพเคราะห์ อันเป็นลัทธิไสยศาสตร์ ซึ่งต้องอาศัยคติพุทธศาสตร์เข้าแทรกปนอยู่ด้วยนี้ ย่อมเป็นข้อนำให้สัณนิษฐานว่า ผู้ที่จะได้เป็นเทวดานั้น ต้องอบรมคุณงามความดี จนบารมีแก่กล้าสิ้นกาลช้านานจึงเป็นเทวดาได้ เมื่อผู้ใดบูชาสักการะเทวดา ก็เป็นผู้ที่เคารพนับถือและบูชาผู้มีคุณงามความดีนั่นเอง และเป็นอันเชื่อว่า ได้บำเพ็ญกรณีส่วนเทวดาพลี การบูชาผู้ทรงคุณงามความดีจะหาโทษมิได้ ย่อมให้ประสบแต่ผลดี คือ ความเจริญโดยส่วนเดียว โดยเหตุที่เทวดาพลีธรรมิกสักการเป็นอปริหานิยปฎิบัติ เป็นที่ตั้งแห่งสุขสวัสดิ์วิบูลย์ผล
         สมเด็จพระบรมศาสดา จึงตรัสแก่มหานามลิจฉวีกษัตริย์ ดังพุทธพจน์ที่ปรากฎอยู่ในอปภิหานิยธรรมสูตรปัญจกังคุตตรนิกาย ว่า "ปุนะ จะปะรังมหานามะ กุละปุตโตยาตา เทวตา ตา สักกะโรติ" เป็นต้น มีความว่า ดูก่อนมหานามะ กุลบุตรผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นขัตติยราชได้มรุธาภิเศกแล้ว หรือเป็นรัฐกาธิบดี ครอบครองแว่นแคว้นบริโภคผ่านสมบัติ อันพระชนกประทานให้ก็ดี หรือเป็นนายแต่เสนา นายบ้าน นายกอง แม้โดยอย่างต่ำเป็นแต่อธิบดีเฉพาะผู้เดียว ในตระกูลนั้นๆก็ดี มาปฎิบัติเทวดาพลีสักการะเทพเจ้าเหล่าใด ซึ่งเป็นผู้รับพลีกรรม คือ อารักขเทวดาที่รักษาตน และวัตถุเทวดาอันสถิตในที่อยู่เป็นต้น ควรมนุษย์ชนจะบวงสรวงสักการะให้ยินดี กุลบุตรมาสักการะบูชาเทพเจ้าทั้งหลายนั้น อันกุลบุตรได้สักการะบูชาด้วยเทวดาพลีแล้ว ก็ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้นๆด้วยจิตเป็นกุศลไกลจากพยาบาทวิหิงสา ทั้งเมตตาต่อกุลบุตรนั้น ว่า จีรัง ชีวะ ทีฆะ มายุง ปาเรหิ ขอท่านจงดำรงอยู่นานเถิด จงเลี้ยงรักษาอายุให้ยืนนาน ดูก่อนมหานามะกุลบุตรนั้น เทพเจ้าหากอนุเคราะห์ด้วยไมตรีกัลยาณจิตฉะนี้แล้ว เร่งปรารถนาความเจริญถ่ายเดียวเถิด ไม่พึงมีความเสื่อม คงจะไม่มีวุฒิความเจริญโดยไม่สงสัยดังนี้
        พิธีบูชานพเคราะห์นิยมทำกันเมื่อมีอายุ 60 ปี หรือเรียกว่าทำบุญอายุครบ 5 รอบ (หรือแซยิด) การทำบุญวันเกิด หรือขณะที่ได้รับทุกข์ภัยไข้เจ็บ นอกจากจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์แล้ว ยังได้เชิญโหรและพราหมณ์มาประกอบพิธียัญญกิจควบคู่กันไปกับทางพุทธศาสตร์ด้วย
        สิ่งของที่จะต้องใช้ในการประกอบพิธีมีมาก เพราะเป็นพิธีใหญ่ มีการจัดตั้งบัตรพลีบูชาเทพยดา ตั้งเครื่องสังเวยเซ่นบวงสรวง เพื่อขอพรเทพยดาดาวพระเคราะห์ ซึ่งสถิตในดวงชะตาให้มาช่วยปัดเป่าทุกข์ภัย บันดาลให้เกิดสวัสดิมงคล มีความสุขสมบูรณ์เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้ายิ่งขึ้น ปราศจากอุปสรรคหายนะภยันตรายทั้งปวง จึงเรียกว่า "พิธีสวดนพเคราะห์
        การสวดนพเคราะห์ พระสงฆ์เป็นผู้สวดบทพระปริต ตามกำหนดบทของดาวนพเคราะห์ โดยสวดสลับกันกับโหร ซึ่งโหรทำหน้าที่กล่าวคาถาบูชาเทพยดาเป็นทำนองสรภัญญะ เมื่อโหรกล่าวคำบูชาเทพยดาจบแล้ว พระสงฆ์ก็เจริญพระพุทธมนต์ตามบทของดาวพระเคราะห์ สลับกันไปกับโหรที่สวดบูชาเทวดานพเคราะห์องค์นั้นๆจนครบ 9 องค์

ภาพ:วันจันทร์.JPG
เทวดานพเคราะห์ประจำวันจันทร์
ภาพ:วันอังคาร.JPG
เทวดานพเคราะห์ประจำวันอังคาร
ภาพ:วันพุธ.JPG
เทวดานพเคราะห์ประจำวันพุธ
ภาพ:วันพฤหัสบดี.JPG
เทวดานพเคราะห์ประจำวันพฤหัสบดี
ภาพ:วันศุกร์.JPG
เทวดานพเคราะห์ประจำวันศุกร์
ภาพ:วันเสาร์.JPG
เทวดานพเคราะห์ประจำวันเสาร์
ภาพ:วันอาทิตย์.JPG
เทวดานพเคราะห์ประจำวันอาทิตย์

เทวดานพเคราะห์คนที่ไม่ทราบวันเกิด(พระเกตุ)
ภาพ:พระเกตุ.JPG
เทวดานพเคราะห์ประจำวันพุธกลางคืน(พระราหู)